สถาปัตยกรรม ของ ประตูจีน (กรุงปักกิ่ง)

ประตูจงหฺวาในทศวรรษที่ 1900 มองจากประตูเจิ้งหยาง (ประตูเฉียนเหมิน) โดยมีประตูเทียนอันเหมินและพระราชวังต้องห้ามเป็นฉากหลัง

ในฐานะที่เป็นจุดแบ่งเขตระหว่างนครจักรพรรดิและเมืองของสามัญชน ประตูจงหฺวาสร้างขึ้นให้ดูเป็นทางการและโอ่อ่า จากบันทึกของราชวงศ์ชิง ได้เขียนไว้ว่า "ประตูต้าชิง มีประตูสามช่อง, ชายคาโค้งขึ้น, จัตุรัสสี่เหลี่ยมที่สมบูรณ์แบบข้างหน้า, สิงโตสองตัวในแต่ละด้านและป้ายหินลงจากหลังม้าในแต่ละด้าน" (「大清門,三闕上爲飛簷崇脊,門前地正方,繞以石欄,左右獅各一,下馬石碑各一」) ประตูนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับ"ประตูต้าหง" (大红门) ที่สุสานหลวงราชวงศ์หมิงและสุสานจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง

ในสมัยราชวงศ์ชิง พื้นที่ระหว่างประตูต้าชิง และประตูเจิ้งหยางเป็นลานกว้างล้อมรอบด้วยรั้วหิน ในสมัยราชวงศ์หมิง พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน เรียกว่า "ถนนตารางหมากรุก" เนื่องจากมีตรอกซอกซอยแคบๆ ระหว่างแผงลอย

"ป้ายหินลงจากหลังม้า" (下马碑) ที่ด้านนอกของประตูเป็นป้ายที่บอกว่าขุนนางต้องลงจากเสลี่ยงหรือจากหลังม้า

มีเพียงจักรพรรดิ จักรพรรดินี และพระพันปีเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้นั่งเกี้ยวผ่านประตู ในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดินีจะเสด็จเข้าพระราชวังต้องห้ามผ่านทางประตูต้าชิงได้เฉพาะในโอกาสที่จะอภิเษกสมรสเท่านั้น นางสนมและมเหสีอื่น ๆ ทั้งหมดต้องเข้าทางประตูเฉินอู่ ทางด้านเหนือของพระราชวัง